นิสิตรุ่นใหม่กับประชาคมอาเซียน Print
Written by Administrator   
Monday, 17 December 2012 10:34

นิสิตควรเตรียมตนเองอย่างไร 
เพื่อความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี
2558

ความเป็นมาของ “ประชาคมอาเซียน”
"ประชาคมอาเซียน" (ASEAN Community) พัฒนามาจาก สมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Nations-ASEAN) หรือ "อาเซียน" โดยถือกำเนิดจากการที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการรวมตัวกัน ภายหลังการประกาศ "ปฏิญญากรุงเทพฯ" (Bangkok Declaration) และได้ก่อตั้งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๐  ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Nations) โดยมีประเทศสมาชิกเมื่อเริ่มก่อตั้งรวม 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และ การบริหาร ต่อมาอาเซียนได้ขยายวงสัมพันธภาพออกไปสู่ประเทศโดยรอบที่เคยอยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์มาก่อน และเพิ่มสมาชิกขึ้นเป็น 10 ประเทศ โดยเวียดนาม ได้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อ  ปี 2538 ประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว และพม่า ในปี 2540 และ กัมพูชาได้เป็นสมาชิกรายที่ 10 ซึ่งเป็นรายสุดท้ายที่เข้าร่วมในอาเซียน เมื่อปี 2542
เมื่อเดือนธันวาคม 2540 ผู้นำอาเซียนได้ร่วมรับรองเอกสาร "วิสัยทัศน์อาเซียน 2020" (ASEAN Vision ๒๐๒๐)  เพื่อพัฒนา ASEAN ไปสู่ “ประชาคมอาเซียน” (ASEAN Community) ให้เป็นผลสำเร็จในปี ๒๕๖๓ หรือ ค.ศ. ๒๐๒๐ และเห็นชอบให้มีการร่าง “กฎบัตรอาเซียน” เพื่อเป็น “ธรรมนูญ”
การบริหารปกครองกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง ๑๐ ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
ต่อมาได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน ในปี ๒๕๕๐ หรือ ค.ศ.๒๐๐๗ ซึ่งที่ประชุมตกลงให้เร่งรัดการจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นอีก ๕ ปี คือ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ หรือ ค.ศ.๒๐๑๕  ซึ่งมีการลงนามรับรอง “กฎบัตรอาเซียน” (ASEAN Charter) เพื่อใช้เป็นกติกาในการอยู่ร่วมกันที่เน้นความยึดมั่นใน หลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรมและธรรมาภิบาลการเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่จะนำไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน ดังคำขวัญที่ว่า “One Vision, One Identity, One Community”  ทั้งนี้ได้กำหนดเป้าหมายหลัก 4 ประการ เพื่อมุ่งพัฒนาอาเซียนไปสู่ "ประชาคมอาเซียน" (ASEAN Community)ให้เป็นผลสำเร็จภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) ซึ่งจะประกอบด้วย "เสาประชาคมหลักรวม 3 เสา" ได้แก่ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน รวม ทั้งจัดโครงสร้างองค์กรของอาเซียน รองรับภารกิจและพันธกิจ รวมทั้งแปลงสภาพอาเซียนจากองค์กรที่มีการรวมตัวหรือร่วมมือกันแบบหลวมๆเพื่อสร้างและพัฒนามาสู่สภาพการเป็น "นิติบุคคล"

เป้าหมายการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน
หากจะกล่าวโดยสรุปอย่างย่อ ๆ พอเข้าใจ ประชาคมอาเซียน มุ่งเน้นการรวมตัว ใน 3 เรื่องสำคัญ คือ
1. การเป็นประชาคมด้านการเมืองและความมั่นคง การรวมตัวกันในด้านนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ประเทศในภูมิภาคอยู่อย่างสันติสุข แก้ไขปัญหาภายในภูมิภาคโดยสันติวิธี และยึดมั่นในหลักความมั่นคงรอบด้าน ยึดถือหลักการเคารพอธิปไตยของประเทศสมาชิก แต่จะร่วมมือกันเพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนเกิดความมั่นคง ปลอดภัย 
2. การเป็นประชาคมด้านเศรษฐกิจ การรวมตัวกันในด้านนี้ ดูจะเป็นประเด็นสำคัญที่สุดเพื่อให้เกิดความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน อันจะนำไปสู่ความมั่งคั่ง และมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค และเนื่องจากไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค จึงเชื่อว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ทางด้านนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งการรวมตัวกันเป็นประชาคมด้านเศรษฐกิจ จะก่อให้เกิดการเปิดเสรีทางการค้า การบริการ การลงทุน การเปิดโอกาสให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ
ได้ทั่วอาเซียน ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อนิสิตรุ่นใหม่ ซึ่งจำเป็นจะต้องเรียนรู้ พร้อมกับยกระดับสมรรถนะ
ความเป็นบัณฑิตให้เพิ่มสูงขึ้นเพื่อเป็นปัจจัยเอื้อต่อการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอนาคต
3. การเป็นประชาคมด้านสังคมและวัฒนธรรม การรวมตัวกันในด้านนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ร่วมกันในสังคมที่เอื้ออาทร ประชากรมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการพัฒนาในทุกด้าน และมีความมั่นคงทางสังคม (social security) มีวิสัยทัศน์เดียวกัน มีอัตลักษณ์เดียวกัน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และความรู้สึกถึงความเป็นประชาคมเดียวกัน (One Vision, One Identity, One Community) และสามารถยกระดับความเป็นพลเมืองของประเทศสู่ความเป็นพลเมืองของอาเซียนในที่สุด

ประชาคมอาเซียนกับวิถีชีวิตของคนไทยยุคใหม่
การรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน  จะทำให้สภาพสังคมไทยในอนาคตเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต สังคมไทยจะประกอบไปด้วยผู้คนจากประเทศเพื่อนบ้านมากกว่ายุคปัจจุบันมากมาย เพราะเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าประเทศไทยเป็นประเทศน่าอยู่ สภาพการค้า การลงทุน สภาพเศรษฐกิจจะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน การคมนาคมจากประเทศหนึ่งสู่ประเทศหนึ่งจะมีความสะดวก สบายมากขึ้น จะมีการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ซึ่งอาเซียนได้ตกลงกันว่าภาษาที่ใช้เป็นเป็นภาษากลางของประชาคมอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษ  สังคมไทยจะเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมมากขึ้น  การทำกิจกรรมร่วมกันของประชาชนในประชาคมอาเซียนจะเพิ่มขึ้น ความสัมพันธ์ของประชาชนในภูมิภาคอาเซียนจะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น  เกิดการไหลเวียนในการตั้งถิ่นฐานข้ามชาติ การไหลเวียนแรงงานมีฝีมือข้ามชาติจะเพิ่มมากขึ้น เป็นผลให้การแข่งขันเพื่อการมีงานทำเพิ่มมากขึ้น ในอดีตคนไทยจะแข่งขันการหางานทำกันเอง แต่ต่อไปคนไทยจะพบคู่แข่งที่มาจากเพื่อนบ้านอาเซียนเพิ่มมากขึ้น นี้เป็นเพียงบางส่วนของการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อวิถีชีวิตของนักศึกษาในอีกไม่นานนัก
เมื่อวิเคราะห์การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน จะพบว่ามีทั้งส่วนที่ดีและส่วนผลกระทบที่ต้องคำนึงอยู่หลายประการ
ในส่วนที่เป็นผลดี น่าจะเป็นในด้าน
* โอกาสในด้านความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว การค้าและบริการ การลงทุน เกิดตลาดการค้าเสรี เกิดการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาค
* โอกาสในด้านความมั่นคงของประเทศในภูมิภาค เพราะจะเกิดความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
ของประเทศต่าง ๆ ในกรณีประสบปัญหาภัย เช่น ภัยด้านการก่อการร้าย ภัยทางด้านอุทกภัย ภัยทางด้านการถูกรุกราน ภัยทางด้านยาเสพติด ภัยทางด้านโรคติดต่อ เป็นต้น
* โอกาสในการได้รับความสะดวกในการเดินทางไปมาหาสู่กัน เพราะการคมนาคมที่เชื่อมโยงกัน และมีความทั่วถึงมากขึ้น
* โอกาสด้านการมีงานทำเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตลาดในภูมิภาคอาเซียนเปิดกว้างมากขึ้น
ในส่วนผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น
* อธิปไตยของประเทศอาจลดลง เพราะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาคมเพิ่มขึ้น 
* วัฒนธรรมไทยอาจจะได้รับผลกระทบ หากคนไทยไม่ตระหนักถึงคุณค่าทางวัฒนธรรม
* สภาวะสังคมพหุวัฒนธรรม ทำให้คนไทยจำเป็นต้องรู้จักปรับตัวและพัฒนาวิถีการดำรงชีวิต
ต้องเรียนรู้การดำรงชีวิตภายใต้ความหลากหลาย ต้องฝึกความอดทนต่อความยุ่งยากอันเนื่องมาจากความไม่เคยชินกับวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างคนไทย-ต่างชาติที่อาจเพิ่มสูงขึ้น
* ผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติอาจเพิ่มสูงขึ้น เพราะจะมีผู้คนจากต่างชาติต่างวัฒนธรรมทั้งประสงค์ดีและประสงค์ร้ายเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น สำนึกความเป็นคนไทยหากลดลง  ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงของชาติดังกล่าว
* การข้ามแดนของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ย่อมส่งผลต่อการมีงานทำของบัณฑิตไทย        * ความขัดแย้งระหว่างคนไทย-คนไทย และคนไทย-ต่างชาติที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต หากขาดวินัยในการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม

นิสิตรุ่นใหม่ควรเตรียมตนเองอย่างไร ก่อนไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน  ปี 2558

การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน ชี้ว่าสังคมไทยในอนาคตจะมีความเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่องที่กระทบต่อวิถีชีวิตที่เคยดำเนินมาในอดีตของคนไทย เช่น ผู้คน (people) ในประเทศไทย จะมีประชาชนเพื่อนบ้านย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ดังนั้น วิถีชีวิต (Lifestyle) ของคนในสังคมไทย

อาจจะแตกต่างไปจากอดีต อันเกิดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ การเรียนรู้ (Learning)
ในยุคใหม่ จำเป็นต้องเรียนรู้ในเรื่องที่ก้าวข้ามประเทศไทยมากขึ้น จากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้นิสิตจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ ปรับตัวและเตรียมการ (Adapability and Preparation) เพื่อความพร้อมสำหรับสถานการณ์ในอนาคต ประเด็นที่นิสิตรุ่นใหม่ควรต้องเตรียมตนเอง เช่น
* ควรให้ความสนใจและตระหนักในผลที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการรวมตัวของประเทศต่าง ๆ สู่ประชาคมอาเซียน ทั้งในเชิงประโยชน์ที่ได้รับและข้อควรระวัง ดังนั้นการติดตามข้อมูล ข่าวสารความเคลื่อนไหวของประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะนำไปสู่ความเท่าทันสถานการณ์ ซึ่งจะนำไปสู่ การปรับตัว และเตรียมการ มิใช่รอให้ผลเกิดขึ้นก่อนจึงค่อยปรับตัว ซึ่งอาจจะทำให้เราไม่ทันการ
* การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน ทำให้สังคมไทยยุคใหม่จะสะท้อนความเป็นสังคมที่มี
ความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือที่เรียกว่าสังคมพหุวัฒนธรรม เพิ่มมากขึ้น โจทย์สำคัญ คือ นิสิตจะ
ใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้คนต่างวัฒนธรรมอย่างไร จะทำงานด้วยความราบรื่นกับผู้คนต่างวัฒนธรรมอย่างไร การเรียนรู้ของนิสิต จึงจำเป็นต้องแสวงหาโอกาสเพื่อเสริมทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนต่างวัฒนธรรม เพื่อสร้างความสามารถที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดีภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม
* ปรับกระบวนทัศน์การเรียนรู้ของตนเอง การเรียนรู้ในยุคใหม่ควรเป็นไปอย่างมีเป้าหมาย ไม่ควรเรียนรู้อย่างไร้ทิศทาง การเรียนในมหาวิทยาลัยควรเป็นไปเพื่อสะสมความรู้และประสบการณ์ รู้จักที่จะสร้างโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มในตนเอง ทำให้ตนเป็นคนมีศักยภาพรอบด้าน  (ทั้งทางการเรียนรู้ การเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ การสื่อสาร การมีวินัยในตนเอง การมีภาวะผู้นำ ฯลฯ ) เพราะคู่แข่งในอนาคตมิใช่คนไทยด้วยกันเท่านั้น แต่เป็นคนต่างชาติต่างวัฒนธรรมที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แนวคิดที่ควรจะเกิดขึ้นเพื่อการเสริมสร้างโอกาสในตนเอง คือ ทำให้ตนเองมีสมรรถนะที่สามารถทำงานได้ทั่วอาเซียน นอกจาก นี้การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน สอนเราว่าเราต้องมีนิสัยเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสังคมแห่งอนาคตเป็นสังคมใหม่ที่เราไม่เคยชิน เนื่องจากมีความแตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา ความรู้เพื่อการดำรงตนให้อยู่รอด ให้อยู่อย่างมีความสุข เป็นสิ่งที่นิสิตจำเป็นต้องแสวงหา             
* นิสิตรุ่นใหม่จำเป็นต้องตระหนักถึงความเป็นชาติและความดำรงอยู่ของรัฐชาติ ทบทวนและพิจารณาค่านิยมของคนในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญต่อความสุขสบายส่วนตัว ไม่สนใจกิจกรรมเพื่อสังคม และขาดความรู้ ความสนใจในความเป็นไปของบ้านเมือง หากนิสิตรุ่นใหม่ยังคงซึมซับ รับเอาค่านิยมเหล่านี้ไว้ การดำรงรักษาความเป็นชาติในอนาคตคงจะเป็นไปได้ยาก
* เรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้านทั้งในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในอดีตสอนให้เรารักชาติบนความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ทำให้มีมุมมองต่อประเทศเพื่อนบ้านในทางลบ หากเข้าใจว่าทุกวัฒนธรรมล้วนเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อคนในแต่ละสังคม การมีมุมมองเช่นนั้นต่อประเทศเพื่อนบ้านจะนำไปสู่ความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น
* สร้างโอกาสเรียนรู้ภาษาประเทศ ต้องเพิ่มทักษะทางด้านภาษาอังกฤษให้มากขึ้น ให้สามารถสนทนาได้ และสามารถสื่อสารในการทำงานได้ และถึงแม้ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษากลางของอาเซียน แต่ทิศทางในอนาคตภาษาจีนจะมีความสำคัญสูง จึงควรให้ความสนใจในการศึกษาภาษาจีนเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ควรสร้างโอกาสการเรียนรู้ภาษาประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างโอกาสให้ตนเองสามารถทำงานในประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย

ประเด็นน่าเป็นห่วง

ขณะนี้ทุกประเทศที่ได้ตกลงที่จะรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งแต่ละประเทศกำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการเพื่อให้นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนของแต่ละประเทศให้มีความพร้อมต่อการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558  ดังนั้นขณะนี้จึงเหลือเวลาเพียง 4 ปี ในการเตรียมการ ซึ่งเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นเวลาที่ไม่ยาวนานมากนัก แต่เมื่อหันมามองประเทศไทย จะพบประเด็นที่น่าเป็นห่วงอยู่หลายประการเกี่ยวกับการเตรียมตัวของนิสิต เช่น
* นิสิตส่วนใหญ่ยังตระหนักในสถานการณ์ประชาคมอาเซียนน้อยมาก และขาดการเตรียมการที่ดี ส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตแบบไม่เตรียมการ เพราะขาดการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์อนาคต อาจจะพอรู้ความเคลื่อนไหวบ้าง แต่ไม่รู้ว่าสถานการณ์อนาคตมีความเกี่ยวข้องกับตนเองอย่างไร  บางส่วนที่พอจะทราบบ้างก็พบว่ายังขาดการเตรียมการ ส่วนใหญ่ยังมองว่าไว้ถึงเวลาค่อยปรับตัว
* ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษทั้งในด้านการพูด อ่าน เขียน ในภาพรวมยังขาดทักษะที่ดี แต่ภาษาอังกฤษถูกกำหนดให้เป็นภาษากลางของอาเซียน สถานการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อ
ความสามารถในการแข่งขันกับบัณฑิตจากประเทศเพื่อนบ้านที่คาดว่าจะเข้ามาสมัครงานในประเทศไทย
เพิ่มมากขึ้นในอนาคต และในอนาคตสถานประกอบการย่อมต้องการบัณฑิตที่มีทักษะทางภาษาอังกฤษ
สูงเพิ่มมากขึ้น การมีงานทำของนิสิตจึงเป็นประเด็นน่าเป็นห่วงในอนาคต
* กระบวนทัศน์การเรียนรู้ของนิสิต ยังเป็นรูปแบบของการเรียนเพื่อให้ได้ปริญญา มากกว่าเรียนเพื่อให้ตนเองได้พัฒนาศักยภาพ ขณะที่นักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านให้ความสำคัญต่อการเรียนสูงมาก จึงน่าเป็นห่วงสำหรับนิสิตรุ่นใหม่ในอนาคตที่จำนวนไม่น้อย ยังคงประมาทกับสถานการณ์ ประมาทต่อศักยภาพของบัณฑิตจากประเทศเพื่อนบ้าน
* นิสิตรุ่นใหม่ซึมซับค่านิยมใหม่ ๆ ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนรู้ของตนเอง ไม่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันที่ดีในสังคม เช่น รักเสรีภาพ มีความเป็นปัจเจกชนสูง แสดงออกซึ่งภาวะอารมณ์
ที่รุนแรงอย่างขาดความยับยั้งชั่งใจ เรียนเพื่อรวย ขาดความรับผิดชอบในตนเองที่มากพอ ฯลฯ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของบัณฑิตไทยที่อาจจะเป็นปัญหาต่อการมีงานทำที่ดีในอนาคต

สรุป
การรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน ภายใต้คำขวัญ “อาเซียนรวมตัวกันเป็นหนึ่ง” ภายใน
ปี พ.ศ. 2558 หากพิจารณาอย่างรอบด้านจะพบว่ามีทั้งผลดีหลายประการและผลกระทบที่น่าเป็นห่วงต่อสังคมและคนไทย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าคนไทยให้ความสำคัญและเตรียมการในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด
ประเด็นที่นิสิตรุ่นใหม่ควรให้ความสนใจ คือ ควรมองเห็นและตระหนักในสถานการณ์ประชาคมอาเซียน ถ้าหากนิสิตตระหนัก ปรับตัวและเตรียมการ ก็จะทำให้นิสิตได้พบโอกาสมากมายที่นำไปสู่อนาคตที่สดใส แต่หากนิสิตรุ่นใหม่ขาดความตระหนักและไม่เตรียมการ ก็จะทำให้นิสิตขาดโอกาสที่ควรจะมี และจะต้องเสียเวลาในการพัฒนาตนเองใหม่ให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น นิสิตใหม่ 2555 จึงต้องเรียนรู้และวางเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนตั้งแต่จุดเริ่มต้น และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตนเองมีความพร้อมต่อการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพราะทันทีที่นิสิตสำเร็จการศึกษาก็จะตรงกับช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนโดยสมบูรณ์ไปแล้ว   4 ปีจากนี้ไปจึงเป็น 4 ปีที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับนิสิตใหม่  เอกสารบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อหาภาพอนาคตที่จะเกิดขึ้นต่อนิสิต เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การคิดต่อ คิดตาม และร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาตนเองต่อไปในอนาคต

ดร.จีรวัฒน์  วีรังกร

Last Updated on Sunday, 27 January 2013 12:21